วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556




โดยปกติแล้ว โรคอ้วนที่มีผลร้ายต่อสุขภาพมีอยู่ 3 ประเภท ก็คือ
          1. อ้วนทั้งตัว เราอาจเห็นได้โดยทั่วไป โดยจะมีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติโดยไขมันที่เพิ่มมิได้จำกัดอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง
          2. อ้วนลงพุง จะสังเกตได้ว่าส่วนอื่นอาจไม่มีปัญหาไขมันสะสม แต่จะมีไขมันในอวัยวะภายในช่องท้องมากกว่าปกติ และอาจจะมีไขมันใต้ผิวหนังหน้าท้องเพิ่มขึ้นด้วย
          3. อ้วนลงพุงร่วมกับอ้วนทั้งตัว มีไขมันมาก ทั้งตัวและอวัยวะภายในช่องท้อง
          ปัญหาที่คุณควรระวังก็คือ อ้วนลงพุง หรือกลุ่มอาการที่เรียกว่า Metabolic Syndrome เป็นคนที่มีอาการน้ำตาลในเลือดสูง มีความผิดปกติของไขมันในเลือด ความดันโลหิต ต้องระวังเพราะมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นโลหิตในสมองแตก เบาหวาน ลองสังเกตตัวเองดูค่ะ ลักษณะของคนอ้วนลงพุง จะมีสะโพกเล็ก ไหล่กว้าง และลงพุง ถ้าลองเทียบกับคนที่อ้วนทั้งตัวในปริมาณน้ำหนักที่เท่ากัน คนอ้วนที่ลงพุงมากจะมีความเสี่ยงเกิดโรคต่างๆ ได้มากกว่าคนที่อ้วนทั้งตัวค่ะ เพราะฉะนั้น แม้จะดูผอม น้ำหนักไม่มาก แต่ถ้ามีพุง ก็ต้องระวัง Metabolic Syndrome ค่ะ
          สาเหตุหลักๆ ของกลุ่มอาการนี้ ก็คือ พฤติกรรมการกินที่แย่ ไม่ชอบออกกำลังกาย เครียด ขี้กังวล อย่างไรก็ตาม จะสังเกตว่าผิดปกติหรือไม่ ให้ดูดังนี้ค่ะ ว่าหากมีความผิดปกติอย่างน้อย 3 ข้อใน 5 ข้อต่อไปนี้ ก็ควรรีบเอาใจใส่และดูแลตัวเองได้แล้วค่ะ
          1. สำหรับคนไทย รอบเอวผู้ชาย ไม่ควรเกิน 36 นิ้ว และไม่เกิน 33 นิ้ว ในผู้หญิง
          2. ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด มากกว่า 150 มก. / ดล.
          3. ระดับ เอช-ดี-แอล โคเลสเตอรอล น้อยกว่า 40 มก./ดล.ในผู้ชาย หรือ น้อยกว่า 50 มก./ดล.ในผู้หญิง
          4. ความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มม.ปรอท หรือรับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่
          5. ระดับน้ำตาลขณะอดอาหารมากกว่า 110 มก./ดล.

หากรู้ตัวว่าเป็น Metabolic Syndrome ควรดูแลตัวเอง ดังนี้
          • การรักษาโดยการปรับพฤติกรรมการออกกำลังกาย อย่างน้อย วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน
          • ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยลดอาหารประเภทไขมัน และรับอาหารพวกแป้งไม่เกินร้อยละ 50 ของอาหารที่รับประทาน ให้รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่นอาหารธัญพืช ข้าวกล้อง ผัก ถั่ว ลดอาหารพวกเนื้อสัตว์ ใช้น้ำมันถั่วเหลืองแทนน้ำมันปาล์ม งดกระทิ
          • ลดน้ำหนัก ควรลดน้ำหนักลงร้อยละ 5-10 ของน้ำหนัก เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น